เรียนรู้กับครูธนิดา

วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

เพลงพื้นบ้าน

ครื้นเครงเพลงพื้นบ้าน
ความหมายของเพลงพื้นบ้าน
                คือ บทเพลงที่เกิดจากคนในท้องถิ่นต่าง ๆ คิดรูปแบบการร้อง การเล่นขึ้น เป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนอง ภาษาเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มุ่งความสนุกสนานรื่นเริง ใช้เล่นกันในโอกาสต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ ตรุษจีน ลอยกระทงไหว้พระประจำปี หรือแม้กระทั่งในโอกาสที่ได้มาช่วยกันทำงาน ร่วมมือร่วมใจเพื่อทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น เกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นต้น

ลักษณะของเพลงพื้นบ้าน
             ส่วนมากเป็นการเกี้ยวพาราสี หรือการซักถามโต้ตอบกัน ความเด่นของเพลงพื้นบ้านอยู่ที่ความไพเราะ คารมหรือถ้อยคำง่าย ๆ แต่มีความหมาย กินใจ ใช้ไหวพริบปฏิภาณในการร้องโต้ตอบกัน เพลงพื้นบ้านส่วนใหญ่จะมีเนื้อร้อง และทำนองง่าย ๆ ร้องเล่นได้ไม่ยาก ฟังไม่นานก็สามารถร้องเล่นตามได้ การเล่นเพลงชาวบ้าน จะเล่นกัน ตามลานบ้าน ลานวัด ท้องนา ตามลำน้ำ แล้วแต่โอกาสในการเล่นเพลง เครื่องดนตรี ที่ใช้เป็นเพียงเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง กรับ กลอง หรือเครื่องดนตรี ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองบางทีก็ไม่มีเลยใช้การปรบมือประกอบจังหวะสิ่งสำคัญในการร้องเพลงชาวบ้านอีกอย่างก็คือ ลูกคู่ที่ร้องรับ ร้องกระทุ้ง หรือร้องสอดเพลง ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้นยิ่งขึ้น

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน
              เพลงพื้นบ้านโดยทั่วไปนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด พอจะแยกประเภทได้ดังนี้ คือแบ่งตามผู้เล่นได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.             เพลงเด็ก  เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งในกลุ่มชน จะแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม
และเมื่อมีการเล่นเกิดขึ้นก็มักมีบทเพลงประกอบการเล่นด้วย เพลงที่ร้องก็ง่าย ๆ สั้น ๆ สนุกสนาน เช่น รี รี ข้าวสาร, มอญซ่อนผ้า, จ้ำจี้มะเขือเปราะ , แมงมุมขยุ้มหลังคา  จำแนกย่อย ๆ ได้ 4 ประเภท ดังนี้
1.1        เพลงร้องเล่น เช่น โยกเยกเอย, ฝนตกแดดออก นกกระจอกเข้ารัง
1.2        เพลงหยอกล้อ เช่น ผมจุก, ผมม้า, ผมเปีย, ผมแกละ
1.3        เพลงขู่ ปลอบ เช่น แม่ใครมา น้ำตาใครใหล, จันทร์เจ้าขา, แต่ช้าแต่ เขาแห่ยายมา
1.4        เพลงประกอบการเล่น เช่น จ้ำจี้มะเขือเปราะรี รี ข้าวสารมอญซ่อนผ้า
2.              เพลงผู้ใหญ่   มีหลายประเภทดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากจะให้ความ
สนุกสนานบันเทิงใจแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีร่วมใจกันทำสิ่งต่าง ๆ ของสังคมไทย สภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ไว้อย่างน่าศึกษาอีกด้วย ด้านเพลงกล่อมเด็กจะเห็นความรักความผูกพันในครอบครัว ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตำนาน นิทาน ประวัติศาสตร์ ตลอดจนจินตนาการความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ เนื่องจากความหลากหลายในเพลงกล่อมเด็ก จึงเป็นเพลงที่มีคุณค่าแก่การรักษาไว้เป็นอย่างยิ่ง  แบ่งเป็น 6 ประเภท คือ
2.1        เพลงกล่อมเด็ก เช่น กาเหว่าเอย, พ่อเนื้อเย็น
2.2        เพลงปฏิพากย์ เช่น เพลงฉ่อยเพลงรำวง ซึ่งเพลงปฏิพากย์นี้ต่อมาวิวัฒนาการมาเป็นเพลงลูกทุ่งนั่นเอง
2.3        เพลงประกอบการเล่น เช่น รำโทน (ต่อมาคือรำวง), ลูกช่วง, เข้าผี, มอญซ่อนผ้า
2.4        เพลงประกอบพิธี เช่น ทำขวัญนาค, แห่นาค, ทำขวัญจุกแห่นางแมว
2.5        เพลงเกี่ยวกับอาชีพ เต้นกำรำเคียว
2.6        เพลงแข่งขัน ส่วนใหญ่คือปฏิพากย์

แก่นแท้...เพลงพื้นบ้าน
                เพลงพื้นบ้านเป็นงานของชาวบ้านซึ่งถ่ายทอดมาโดยการเล่าจากปากต่อปาก อาศัยการฟังและการจดจำ ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ไม่ว่าเพลงพื้นบ้านจะสืบทอดมาตามประเพณี มุขปาฐะดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่า เพลงทุกเพลงจะมีต้นกำเนิดโดยชาวบ้านหรือการร้องปากเปล่าเท่านั้น ชาวบ้านอาจได้รับเพลงบางเพลงมาจากชาวเมือง แต่เมื่อผ่านการถ่ายทอดโดยการร้องปากเปล่า และการท่องจำนานๆเข้าก็กลายเป็นเพลงชาวบ้านไป เช่นเดียวกับกรณีของเพลงรำโทน ที่ผู้วิจัยได้ทำการศึกษา ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ที่ได้ผสมผสานระหว่างท่วงทำนองแบบท้องถิ่น แต่มีลีลาการดำเนินทำนองที่เป็นแบบพื้นเมือง

คุณค่าของเพลงพื้นบ้าน
                เพลงพื้นเมืองเป็นมรดกทางวรรณกรรม ชาวบ้านนิรนามได้แต่งเพลงของเขาขึ้น บทเพลงนี้อาจจะมาจากความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนและความอยู่ไม่สุขของปาก แต่บังเอิญ หรือบางทีไม่ใช่บังเอิญ เพลงของเขาไพเราะและกินใจชาวบ้านคนอื่นๆด้วย ดังนั้นเพลงดังกล่าวจึงได้แพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ และในที่สุด ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนแต่งเพลงบทนั้น และแต่งเมื่อใด
                เพลงพื้นบ้านมีคุณค่าอย่างมากมายที่สำคัญคือให้ความบันเทิงสนุกสนาน มีน้ำใจ สามัคคี ในการทำงานช่วยเหลือกัน สะท้อนวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต การแต่งกาย ฯลฯ และเป็นการปลูกฝัง ฝึกเด็กให้ครบองค์สี่ คือ
1.             ส่งเสริมให้เด็กมีกำลังกายแข็งแรง
2.             ส่งเสริมให้เด็กมีมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีไหวพริบปฏิภาณดีในการแก้ปัญหา
3.             ส่งเสริมให้เด็กมีจิตใจงาม มีคุณธรรมประจำใจ
4.             รู้จักปฏิบัติตนต่อส่วนรวมในสังคม
                การปลูกฝังให้ประชาชนพลเมืองของประเทศ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติทั้ง 4 ประการนี้ ต้องปูพื้นรากฐานกันตั้งแต่เยาว์วัย และค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย จึงจะซึมซาบจนกลายเป็นนิสัย สมัยนี้วิทยาศาสตร์เจริญขึ้น ผลกระทบทางวิทยาศาสตร์ทำให้วิถีชีวิตของคนเราเปลี่ยนแปลงไปมาก ความเจริญทางวิทยาศาสตร์มีมากเพียงไร วัตถุนิยมก็ตามมา วัตถุนิยมเจริญขึ้น ความเจริญทางจิตใจก็น้อยลง เป็นผลให้ความมั่นคงของประเทศได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันปลูกฝัง อนุรักษ์สืบสานให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

ตัวอย่างเพลงพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น
ภาคเหนือ             มีเพลงค่าวซอ  เพลงค่าวธรรม
ภาคกลาง              มีเพลงฉ่อย  เพลงพวงมาลัย  เพลงเกี่ยวข้าว
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มีลำแคน  ลำเพลิน  ลิเกโคราช
ภาคใต้                   มีลิเกฮูลู  หนังตะลุง  โนรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เว็บบอร์ด

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น