เรียนรู้กับครูธนิดา

วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

สถาบันหลัก

สามสถาบันหลักนครา

ความหมาย
                สามสถาบันหลักนครา  หมายถึง  ชาติ  ศาสนาและพระมหากษัตริย์  ซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของคนไทยให้เกิดความรักใคร่ปรองดองกัน  และอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข
                ชาติ  เป็นราชอาณาจักรอันเป็นหนึ่งเดียว  จะแบ่งแยกมิได้  มีความเป็นเอกราช  มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                ศาสนา  เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้คนในชาติประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงาม  ทุกศาสนาล้วนแต่สอนให้คนประพฤติและคอยประคับประคองจิตใจให้ดีงาม  มีความศรัทธาในการบำเพ็ญตนตามรอยพระศาสดาของแต่ละศาสนา

                พระมหากษัตริย์  เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติ  ทรงคุ้มเกล้าเหล่าพสกนิกรทั้งหลายให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข  เมื่อใดแผ่นดินเกิดวิกฤตก็ทรงปลอบขวัญและแก้ปัญหาให้สถานการณ์ลุล่วงไปได้  ทำให้ไทยอยู่ยั่งยืนนานตราบเท่าทุกวันนี้

เราจะปฏิบัติตนให้เป็นคนไทยได้อย่างไร
                1.  เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกดู มีขนบธรรมเนียมของไทยหลายอย่างที่น่าจะมีการส่งต่อหรือถ่ายทอดสู่ลูกหลาน เช่นการมีสัมมาคารวะผู้ใหญ่ การเคารพนบน้อมเชื่อฟังบิดามารดา ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้บางครั้งฝรั่งไม่มี ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง การไหว้แบบไทยๆ รอยยิ้มแบบไทย จนเราได้ชื่อว่า สยามเมืองยิ้ม The Land of Smile ความกตัญญูในการดูแลบุพการีเมื่อมีอายุ การวางตัวที่ดี ความสุภาพเรียบร้อย ความเกรงใจผู้อื่น ซึ่งเด็กๆจะเลียนแบบจากผู้ใหญ่นั่นเอง       
                2.  นิยมบริโภคของที่ทำในประเทศ
 พยายามหลีกเลี่ยงของนำเข้าหรือของมียี่ห้อที่นำมาจากต่างประเทศ อย่าคิดว่าของนำเข้าดีกว่าของไทย ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่อาจคิดในใจว่าก็ของที่ทำในประเทศมันด้อยคุณภาพจึงทำให้ยากต่อการบริโภค เลยเลือกบริโภคสินค้านำเข้าของแบรนด์ดังๆจนเป็นนิสัย ติดยี่ห้อแต่การกระทำดังกล่าวเป็นการสร้างค่านิยมว่าของต่างประเทศดีกว่าของไทย จนหารู้ไม่ว่าของแบรนด์แนมมากมายหลายอย่างทำโดยคนไทย สินค้าของไทยบางประเภทดีมากแต่ไม่มีใครสนใจ ดังนั้นการสอนลูกให้รู้ถึง สินค้าที่ดีในแต่ละจังหวัด หรือสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์ต่อ 1 ตำบล อาหารอร่อย ผ้าไหมไทยจะทำให้ลูกนิยมบริโภคของไทยและเกิดความภาคภูมิในความเป็นไทยอีกด้วย
                3.  แต่งกายแบบไทยๆในวันเทศกาลสำคัญต่างๆ เพื่อให้เด็กๆได้รู้จักเครื่องแต่งกายของคนไทยในแต่ละภาค       
4.  ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง พูด ร เรือ ล ลิงให้ชัดเจน อย่าพูดไทยคำฝรั่งคำ อ่านหนังสือไทยให้ลูกฟังอย่างถูกอักขระ คำประพันธ์ บทกวีของไทย เพลงของแต่ละภาค สอนว่าใครคือผู้ประดิษฐ์อักษรไทย เป็นต้น
                5.  สอนศิลปะ ประเพณีและวัฒนธรรมของไทยที่ดี ที่น่าจะส่งต่อสู่ลูกหลาน สิ่งนี้รวมไปถึง การทำตำราอาหารฝีมือตำรับคุณตา คุณยาย คุณทวด การทำขนมไทยๆ การรำไทย ลูกจะซาบซึ้งในความเป็นไทยและเป็นการปลูกฝังความรักและความภาคภูมิใจในชาติขึ้นอย่างไม่รู้ตัว
                6.  เล่านิทานที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษ และเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทย ให้เด็กๆฟัง       
                7.  สอนเด็ก ๆ ให้ร้องเพลงชาติไทยให้ถูกต้อง 
การยืนตรงเคารพธงชาติ ความหมายของธงชาติไทย สัญลักษณ์ของดอกไม้ประจำชาติ สัตว์ประจำชาติ เป็นต้น
                8.พาลูกไปดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทยๆ ไปดูพิพิธภัณฑ์ของไทยๆ อาชีพหลักของคนไทย ลองฝึกให้ลูกปฏิบัติจริง เช่นลองให้ลูกไปดูแปลงปลูกข้าวในนา ลองสอนวิธีปลูกข้าวให้ลูก ลูกจะได้เรียนรู้จากของจริงและในขณะเดียวกันจะเกิดความรักต่อชาวนา ชาวสวน มีความอดทน และไม่ดูถูกผู้อื่น
                9.สอนให้ลูกรู้ถึงต้นกำเนิดของชาติไทย ความเป็นชาติไทยและพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์ไทยในแต่ละพระองค์
                10.  พาลูกไปชมดนตรี มโหรสพของไทย สอนการเล่นเครื่องดนตรีไทย
              11.  พาลูกให้ชมความสวยงามของธรรมชาติ ที่ต่างจังหวัด ความสวยงามของบ้านแบบไทยๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะอาจเป็นการยากสำหรับเด็กที่อยู่ในกรุงเทพฯ เด็กต้องอยู่ในโลกของคอนกรีต มลพิษต่างๆการที่เด็กเห็นความสวยงามของธรรมชาติ วัดวาอารามต่างๆ จะทำให้เด็กช่วยกันธำรงรักษาสิ่งแวดล้อมที่สวยงามเหล่านี้เอาไว้
                12.  สอนลูกเล่นการละเล่นของไทย เช่น รีรีข้าวสาร ขี่ม้าก้านกล้วย ฯลฯ ลูกจะสนุกในเวลาเดียวกันก็จะซึมซับความรักในความไทยอีกด้วย  

              ชาติไทยมีเอกลักษณ์ ความเป็นไทยอันมีคุณค่ามาช้านาน คำว่าไท ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความว่าผู้เป็นใหญ่ ส่วนคำว่า ไทย หมายถึง ความมีอิสระในตัว, ความไม่เป็นทาส หรือ ไทยหมายถึงชนเชื้อชาติไทยมีหลายสาขาด้วยกัน  เช่น ไทยใหญ่  ไทยดํา  ไทยขาว  คนไทยอยู่ร่วมหลายเชื้อชาติกันมาช้านาน เรามีอิสระในความคิด การเลือกนับถือศาสนา เรามีความสุขที่เกิดในประเทศไทย เป็นคนไท โดยที่เราไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นที่น่าเสียดายที่สิ่งเหล่านี้จะหายไปและไม่เหลือความเป็นชาติไทยอีก ดังที่มีผู้เคยเขียนไว้ว่าหากเราไม่รักสามัคคีแล้วเราจะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง ดังนั้นหากผู้ใหญ่แสดงให้เด็กดูเป็นตัวอย่างถึงความรักชาติ รักความเป็นไท เป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบทำในสิ่งที่ถูกต้อง ให้ความรู้แก่เด็ก และพยายามสานต่อความเป็นไทยให้สืบทอดต่อลูกหลาน สิ่งเหล่านี้จดจำในความทรงจำและจะไม่สูญหายไปจากใจของเด็กอย่างแน่นอน

นิทานแสนสนุก

นิทานแสนสนุก

นิทานเรื่องคนขี้ลืม
                มีชายคนหนึ่งเป็นคนขี้ลืม ขี้ลืมจริงๆ เรื่องอะไรจำได้ประเดี๋ยวเดียวแล้วก็ลืมหมดเขาจะทำอะไรไม่ได้เลย  วันหนึ่งชายขี้ลืมคนนี้ถือมีดเข้าไปในป่าเพื่อจะไปตัดต้นไม้   เดินทางไปได้สักพักหนึ่ง   เกิดปวดอุจจาระ จึงเอามีดฟัดติดกับต้นไม้ไว้ แล้วก็หาที่หลบไปถ่ายอุจจาระ
                พอถ่ายอุจจาระเสร็จก็เดินออกมา เห็นมีดเล่มหนึ่งอยู่ที่ต้นไม้ เขาลืมไปว่าเป็นมีดของตัวเองเขาดีใจมากจึงรีบวิ่งไปคว้ามีดมาถือไว้ แล้วจับมีดชูขึ้นพลางเต้นไปรอบ  ๆ  แล้วพูดว่า   วันนี้โชคดีแต่เช้าเลยมีดของใครก็ไม่รู้ยังใหม่อยู่   ลับเอาไว้คมกริบทีเดียวเจ้าของมีดนี้แย่มาก ของดีๆ อย่างนี้มาลืมไว้ได้ อ้ายคนไม่รู้จักรักษาของ คนอย่างนี้ทำมาหากิน อะไรมีแต่จะล่มจม
                เผอิญเขาเดินไปเหยียบเอาอุจจาระที่ตนเองถ่ายไว้เมื่อครู่นี้เข้า ลืมว่าเป็นของตัวเองจึงตะโกนด่าขึ้นว่า  “อ้ายคนอุบาทว์ที่ไหนมาถ่ายไว้ได้ ที่ทั้งป่ากว้างใหญ่มาทำโสโครก
เอาไว้ตรงนี้เอง อ้ายมนุษย์อัปรีย์” 
ข้อคิดจากนิทานเรื่องนี้ :
ขึ้นชื่อว่าคนขี้ลืมแล้ว   มักจะลืมได้ทุกอย่าง   ฉะนั้นจงทำอะไรด้วยความมีสติเสมอ
(จากนิทานพื้นบ้านชุด ขำขัน)


นิทานเรื่อง  แม่ย่าเกลียดลูกสะใภ้
                สีมากำพร้าพ่ออยู่กับแม่สองคน  พอโตเป็นหนุ่มก็แต่งงาน  ในครอบครัวก็รักใคร่กันดี   แต่สาวๆที่ผิดหวังจากสีมา  อิจฉาจึงยุแหย่แม่ผัวให้เกลียดลูกสะใภ้  ตอนแรกลูกสะใภ้ก็ไม่โต้ตอบเวลาแม่ผัวดุด่า  นานเข้าก็โต้ตอบไปบ้าง   ทำให้สีมาหนักใจคิดหาวิธีให้ทั้งสอง  ปรองดองกัน   จึงบอกแม่ว่าจะฆ่าเมียตัวเองให้เพื่อให้แม่สบายใจ
                แต่ก่อนจะฆ่าให้แม่ทำดีกับลูกสะใภ้  สัก 15 วันก่อน   และก็ไปบอกเมียให้ทำดีกับแม่ 15 วันเช่นกันแล้วจะฆ่าแม่ให้  ตั้งแต่นั้นมาทั้งสองต่างทำดีต่อกัน   จนเกิดรักใคร่กันจริงๆ
                พอครบ 15 วันสีมาทำท่าจะฆ่าเมียแม่ก็เข้าห้ามไว้  พอจะฆ่าแม่เมียก็ห้ามไว้  สีมาจึงเอาเคียวเก็บที่เดิมพร้อมยิ้มอย่างสุขใจที่แก้ปัญหาลูกสะใภ้กับแม่เกลียดกันได้สำเร็จ

ช้อนกลาง

ช้อนกลางสร้างสุขภาพ

ความหมายของช้อนกลาง
                ช้อนกลาง  คือ ช้อนที่อยู่บนอาหารแต่ละจาน หรือแต่ละถ้วย แล้วผู้ที่กินอาหารใช้ช้อนกลางตักอาหารที่จะกินไปไว้ในภาชนะของตนเองก่อน ไม่ใช่การนำ "ช้อนกลาง" ตักอาหารใส่ปากตนเอง      ช้อนกลางเปรียบเสมือน "กำแพงกั้นเชื้อโรค" ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย และการใช้ช้อนกลางช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อโรคจากน้ำลายลงสู่อาหาร ทำให้อาหารบูดเสียได้ช้าลง หรืออาจจะไม่บูดเสียเลย 
                นอกจากนี้ ช้อนกลางช่วยลดความรังเกียจในการใช้อุปกรณ์ร่วมกันด้วย ถือเป็นมารยาททางสังคมที่ดีอีกอย่างหนึ่ง  การใช้ช้อนกลางเป็นเรื่องของพฤติกรรมการกินที่ถูกสุขลักษณะ เหมาะสำหรับการกินอาหารร่วมกันหลายคน ทั้งในครัวเรือนของตนเอง และ/หรือผู้อื่นตามงานเลี้ยง ภัตตาคาร ร้านอาหารต่างๆ 
     
วิธีการใช้ "ช้อนกลาง"
                เนื่องจากมีบางคนอาจไม่คุ้นเคยกับการใช้ช้อนกลาง  มีข้อแนะนำดังนี้
                ๑. เตรียมช้อนสะอาด หรืออุปกรณ์ที่เหมาะกับชนิดของอาหารให้ครบตามจำนวนชนิดของอาหารที่จะกินอย่างน้อย ๑ คันต่ออาหาร ๑ ชนิด
                ๒. ใช้ช้อนกลางที่เตรียมไว้ตักอาหารในสำรับอาหาร (กับข้าว) มาใส่ที่จานข้าว หรือถ้วยแบ่งของตนเอง
                ๓. ห้ามใช้ช้อนกลางตักอาหารในสำรับเข้าปากโดยตรง

รูปแบบและประเภท "ช้อนกลาง"
                ช้อนกลางควรมีด้ามยาวที่เหมาะสม พ้นขอบภาชนะ หยิบจับสะดวก ใช้งานได้สะดวกตามประเภทชนิดของอาหาร
                ๑. ช้อนกลางชามแกง ต้ม นึ่ง
                ๒. ช้อนกลางจานผัด ทอด ย่าง
                ๓. ช้อนกลางอาหารเส้น
                ๔. ช้อนกลางเครื่องปรุงรส

ลักษณะที่ดีของ "ช้อนกลาง"
                ช้อนที่นำมาใช้สำหรับเป็นช้อนกลาง ควรมีลักษณะ ดังนี้
                ๑. ช้อนกลางต้องทำด้วยวัสดุที่คงทน แข็งแรง ไม่แตกหัก เช่น สแตนเลส
                ๒. ต้องทำด้วยวัสดุที่ไม่เป็นพิษ หรือก่อให้เกิดพิษ หรือมีสีเคลือบที่หลุดลอกออกได้ง่าย เมื่อถูกความร้อน ความเปรี้ยว และเค็มของอาหาร เช่น ช้อนสังกะสีเคลือบ ตะเกียบเคลือบสี
                ๓. รูปแบบ/รูปทรง
                                - ทำความสะอาดได้ง่าย ไม่มีซอกมุม หรือรอยต่อที่ทำความสะอาดได้ยาก สามารถใช้ได้เหมาะสมกับชนิดและประเภทของอาหาร
                                - บริเวณด้ามจับต้องไม่มีโอกาสสัมผัสกับอาหารได้ง่าย เช่น ด้ามไม่สั้นเกินไป เมื่อวางบนภาชนะต้องพ้นขอบภาชนะ ไม่ล่วงหล่นลงไปในอาหาร (ส่วนที่ตักอาหารจะมีขนาด/ลักษณะที่ไม่เหมาะที่จะตักอาหารเข้าปากโดยตรง)

                ทุกวันนี้เรารับประทานอาหารด้วยช้อนกลางหรือไม่  คงจะเป็นคำถามที่หลาย   ท่านคิดว่าไม่น่าจะถาม  เพราะความเป็นจริงแล้วการกินอาหารโดยใช้หรือไม่ใช้ช้อนกลาง  คงอยู่ที่ค่านิยม สิ่งแวดล้อม  รวมทั้งการเลี้ยงดูที่ปลูกฝังให้ปฏิบัติจนเป็นความเคยชินเป็นตัวกำหนดมากกว่า

                จากรายงานการสำรวจข้อมูลร้านอาหารในปี  2548  ของกรมอนามัย  ที่ผ่านมา  จำนวน 546 ร้าน   เราพบว่าร้านอาหารส่วนใหญ่ยังไม่มีการเสิร์ฟช้อนกลางให้แก่ลูกค้าถึงร้อยละ   31.5 นอกจากนี้ยังพบอีกว่า  มีครอบครัวที่ใช้ช้อนกลางถูกต้อง  คือ  ใช้ช้อนกลางตักกับข้าวมาใส่จานตัวเองร้อยละ  43.4  มีการใช้ช้อนกลางไม่ถูกต้อง  คือ  ใช้ช้อนกลางตักอาหารรับประทานทันที  ร้อยละ  13.8  และไม่มีการใช้ช้อนกลาง ร้อยละ  42.7

                ปัจจุบัน  กรมอนามัยกำลังรณรงค์ให้คนไทยใช้ช้อนกลางเพื่อป้องกันโรค ที่ติดต่อผ่านทางน้ำลายและลงไปในอาหาร  อาทิ  เช่น  โรคหวัด  ไข้หวัดใหญ่  คอตีบ  คางทูม  โปลิโอ  วัณโรค ไวรัสตับอักเสบบี  และโรคซาร์ส  ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันโรค แล้วยังสร้างวัฒนธรรมในการรับประทานที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นอีกด้วย
                นอกจากนั้น  การใช้ช้อนกลางยังทำให้เก็บอาหารไว้ได้นานขึ้น  เพราะเชื้อโรคจากน้ำลายในปากไม่ได้ลงไปสู่อาหาร  คุณจะเห็นว่าการใช้ ช้อนกลาง  เปรียบเสมือน  กำแพงกั้นเชื้อโรค คอยปกป้องไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายติดต่อไปสู่ทุก  ฃๆ  คนที่ร่วมรับประทานอาหาร  การใช้เป็นต้องใช้อย่างถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร
                โดยหลักการแล้ว  ช้อนกลาง  ก็คือช้อนที่ใส่ไว้ในอาหารแต่ละจานหรือแต่ละถ้วย  แล้ว     ผู้รับประทานอาหารใช้ตักอาหารที่จะรับประทาน ไปไว้ในภาชนะของตนเองก่อน  มิใช่อย่างที่    ทุกคนเข้าใจว่า  ช้อนกลาง  คือช้อนที่ใส่ไว้ในจานกับข้าวแล้วทุกคนใช้ตักอาหารใส่ปากของตนเอง
                การใช้ช้อนกลางเป็นนิจ  ชีวิตก็จะปลอดภัย  โดยมีช้อนกลางคอยเป็นกำแพงกั้นเชื้อโรค  คงไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งถ้าทุกคนปฏิบัติได้จนเป็นนิสัย ทำเป็นกิจวัตรแล้ว สุขภาพที่ดีก็จะเกิดกับตัวเราเอง

เพลงพื้นบ้าน

ครื้นเครงเพลงพื้นบ้าน
ความหมายของเพลงพื้นบ้าน
                คือ บทเพลงที่เกิดจากคนในท้องถิ่นต่าง ๆ คิดรูปแบบการร้อง การเล่นขึ้น เป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนอง ภาษาเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มุ่งความสนุกสนานรื่นเริง ใช้เล่นกันในโอกาสต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ ตรุษจีน ลอยกระทงไหว้พระประจำปี หรือแม้กระทั่งในโอกาสที่ได้มาช่วยกันทำงาน ร่วมมือร่วมใจเพื่อทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น เกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นต้น

ลักษณะของเพลงพื้นบ้าน
             ส่วนมากเป็นการเกี้ยวพาราสี หรือการซักถามโต้ตอบกัน ความเด่นของเพลงพื้นบ้านอยู่ที่ความไพเราะ คารมหรือถ้อยคำง่าย ๆ แต่มีความหมาย กินใจ ใช้ไหวพริบปฏิภาณในการร้องโต้ตอบกัน เพลงพื้นบ้านส่วนใหญ่จะมีเนื้อร้อง และทำนองง่าย ๆ ร้องเล่นได้ไม่ยาก ฟังไม่นานก็สามารถร้องเล่นตามได้ การเล่นเพลงชาวบ้าน จะเล่นกัน ตามลานบ้าน ลานวัด ท้องนา ตามลำน้ำ แล้วแต่โอกาสในการเล่นเพลง เครื่องดนตรี ที่ใช้เป็นเพียงเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง กรับ กลอง หรือเครื่องดนตรี ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองบางทีก็ไม่มีเลยใช้การปรบมือประกอบจังหวะสิ่งสำคัญในการร้องเพลงชาวบ้านอีกอย่างก็คือ ลูกคู่ที่ร้องรับ ร้องกระทุ้ง หรือร้องสอดเพลง ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้นยิ่งขึ้น

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน
              เพลงพื้นบ้านโดยทั่วไปนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด พอจะแยกประเภทได้ดังนี้ คือแบ่งตามผู้เล่นได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.             เพลงเด็ก  เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งในกลุ่มชน จะแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม
และเมื่อมีการเล่นเกิดขึ้นก็มักมีบทเพลงประกอบการเล่นด้วย เพลงที่ร้องก็ง่าย ๆ สั้น ๆ สนุกสนาน เช่น รี รี ข้าวสาร, มอญซ่อนผ้า, จ้ำจี้มะเขือเปราะ , แมงมุมขยุ้มหลังคา  จำแนกย่อย ๆ ได้ 4 ประเภท ดังนี้
1.1        เพลงร้องเล่น เช่น โยกเยกเอย, ฝนตกแดดออก นกกระจอกเข้ารัง
1.2        เพลงหยอกล้อ เช่น ผมจุก, ผมม้า, ผมเปีย, ผมแกละ
1.3        เพลงขู่ ปลอบ เช่น แม่ใครมา น้ำตาใครใหล, จันทร์เจ้าขา, แต่ช้าแต่ เขาแห่ยายมา
1.4        เพลงประกอบการเล่น เช่น จ้ำจี้มะเขือเปราะรี รี ข้าวสารมอญซ่อนผ้า
2.              เพลงผู้ใหญ่   มีหลายประเภทดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากจะให้ความ
สนุกสนานบันเทิงใจแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีร่วมใจกันทำสิ่งต่าง ๆ ของสังคมไทย สภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ไว้อย่างน่าศึกษาอีกด้วย ด้านเพลงกล่อมเด็กจะเห็นความรักความผูกพันในครอบครัว ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ตำนาน นิทาน ประวัติศาสตร์ ตลอดจนจินตนาการความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ เนื่องจากความหลากหลายในเพลงกล่อมเด็ก จึงเป็นเพลงที่มีคุณค่าแก่การรักษาไว้เป็นอย่างยิ่ง  แบ่งเป็น 6 ประเภท คือ
2.1        เพลงกล่อมเด็ก เช่น กาเหว่าเอย, พ่อเนื้อเย็น
2.2        เพลงปฏิพากย์ เช่น เพลงฉ่อยเพลงรำวง ซึ่งเพลงปฏิพากย์นี้ต่อมาวิวัฒนาการมาเป็นเพลงลูกทุ่งนั่นเอง
2.3        เพลงประกอบการเล่น เช่น รำโทน (ต่อมาคือรำวง), ลูกช่วง, เข้าผี, มอญซ่อนผ้า
2.4        เพลงประกอบพิธี เช่น ทำขวัญนาค, แห่นาค, ทำขวัญจุกแห่นางแมว
2.5        เพลงเกี่ยวกับอาชีพ เต้นกำรำเคียว
2.6        เพลงแข่งขัน ส่วนใหญ่คือปฏิพากย์

แก่นแท้...เพลงพื้นบ้าน
                เพลงพื้นบ้านเป็นงานของชาวบ้านซึ่งถ่ายทอดมาโดยการเล่าจากปากต่อปาก อาศัยการฟังและการจดจำ ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ไม่ว่าเพลงพื้นบ้านจะสืบทอดมาตามประเพณี มุขปาฐะดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่า เพลงทุกเพลงจะมีต้นกำเนิดโดยชาวบ้านหรือการร้องปากเปล่าเท่านั้น ชาวบ้านอาจได้รับเพลงบางเพลงมาจากชาวเมือง แต่เมื่อผ่านการถ่ายทอดโดยการร้องปากเปล่า และการท่องจำนานๆเข้าก็กลายเป็นเพลงชาวบ้านไป เช่นเดียวกับกรณีของเพลงรำโทน ที่ผู้วิจัยได้ทำการศึกษา ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ที่ได้ผสมผสานระหว่างท่วงทำนองแบบท้องถิ่น แต่มีลีลาการดำเนินทำนองที่เป็นแบบพื้นเมือง

คุณค่าของเพลงพื้นบ้าน
                เพลงพื้นเมืองเป็นมรดกทางวรรณกรรม ชาวบ้านนิรนามได้แต่งเพลงของเขาขึ้น บทเพลงนี้อาจจะมาจากความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนและความอยู่ไม่สุขของปาก แต่บังเอิญ หรือบางทีไม่ใช่บังเอิญ เพลงของเขาไพเราะและกินใจชาวบ้านคนอื่นๆด้วย ดังนั้นเพลงดังกล่าวจึงได้แพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ และในที่สุด ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนแต่งเพลงบทนั้น และแต่งเมื่อใด
                เพลงพื้นบ้านมีคุณค่าอย่างมากมายที่สำคัญคือให้ความบันเทิงสนุกสนาน มีน้ำใจ สามัคคี ในการทำงานช่วยเหลือกัน สะท้อนวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต การแต่งกาย ฯลฯ และเป็นการปลูกฝัง ฝึกเด็กให้ครบองค์สี่ คือ
1.             ส่งเสริมให้เด็กมีกำลังกายแข็งแรง
2.             ส่งเสริมให้เด็กมีมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีไหวพริบปฏิภาณดีในการแก้ปัญหา
3.             ส่งเสริมให้เด็กมีจิตใจงาม มีคุณธรรมประจำใจ
4.             รู้จักปฏิบัติตนต่อส่วนรวมในสังคม
                การปลูกฝังให้ประชาชนพลเมืองของประเทศ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติทั้ง 4 ประการนี้ ต้องปูพื้นรากฐานกันตั้งแต่เยาว์วัย และค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย จึงจะซึมซาบจนกลายเป็นนิสัย สมัยนี้วิทยาศาสตร์เจริญขึ้น ผลกระทบทางวิทยาศาสตร์ทำให้วิถีชีวิตของคนเราเปลี่ยนแปลงไปมาก ความเจริญทางวิทยาศาสตร์มีมากเพียงไร วัตถุนิยมก็ตามมา วัตถุนิยมเจริญขึ้น ความเจริญทางจิตใจก็น้อยลง เป็นผลให้ความมั่นคงของประเทศได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วยอย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันปลูกฝัง อนุรักษ์สืบสานให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

ตัวอย่างเพลงพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น
ภาคเหนือ             มีเพลงค่าวซอ  เพลงค่าวธรรม
ภาคกลาง              มีเพลงฉ่อย  เพลงพวงมาลัย  เพลงเกี่ยวข้าว
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มีลำแคน  ลำเพลิน  ลิเกโคราช
ภาคใต้                   มีลิเกฮูลู  หนังตะลุง  โนรา

เรื่องกล้วย ๆ

 เรื่องกล้วย ๆ

กล้วย  เป็นพรรณไม้ล้มลุกในสกุล  Musa  มีหลายชนิด  เช่น  กล้วยน้ำว้า  กล้วยน้ำไท  กล้วยหอมทอง  กล้วยหอมเขียวกล้วยไข่  กล้วยตานี  กล้วยหักมุก  กล้วยเล็บมือนาง  กล้วยนิ้วมือนาง  กล้วยส้ม  กล้วยนาค  กล้วยหิน  กล้วยงาช้าง  ฯลฯ  บางชนิดก็ออกหน่อแต่ว่าบางชนิดก็ไม่ออกหน่อ  ใบแบนยาวใหญ่  ก้านใบตอนล่างเป็นกาบยาวหุ้มห่อซ้อนกันเป็นลำต้น  ออกดอกที่ปลายลำต้นเป็น  ปลี  และมักยาวเป็นงวง  มีลูกเป็นหวี ๆ  รวมเรียกว่า  เครือ  พืชบางชนิดมีลำต้นคล้ายปาล์ม  ออกใบเรียงกันเป็นแถวทำนองพัดคลี่  คล้ายใบกล้วย  เช่น  กล้วยพัด  (Ravenala madagascariensis)  ทว่าความจริงแล้วเป็นพืชในสกุลอื่น  ที่มิใช่ทั้งปาล์มและกล้วย

ประโยชน์ของกล้วย
                กล้วยมีความผูกพันในวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน  คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากต้นกล้วย
นอกจากบริโภคเป็นอาหารแล้ว  ทุกส่วนของกล้วยยังนำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งในชีวิตประจำวันด้วย

ประโยชน์ในพิธีกรรมต่างๆ
                 ในพิธีทางศาสนา  เช่น  การเทศน์มหาชาติ  และการทอดกฐิน  มักใช้ต้นกล้วยประดับธรรมาสน์  และองค์กฐิน
                ในพิธีตั้งขันข้าว  หรือค่าบูชาครูหมอตำแย  สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์  และไปขอให้หมอตำแยทำคลอดให้  จะต้องใช้กล้วย   หวี  พร้อมทั้งข้าวสาร  หมากพลู  ธูปเทียนสำหรับการทำพิธีบูชาครูก่อนคลอด  และเมื่อคลอดแล้วจะต้องอยู่ไฟ  ก็ยังใช้ต้นกล้วยทำเป็นท่อนล้อมเตาไฟ  ป้องกันการลามของไฟ
                ในพิธีทำขวัญเด็ก   เมื่อเด็กอายุ ได้  ๑   เดือน  กับ  ๑  วัน  มีการทำขวัญเด็กและโกนผมไฟ จะมีกล้วย  ๑  หวี  เป็นส่วนประกอบในพิธีด้วย
                ในพิธีแต่งงาน มักมีต้นกล้วยและต้นอ้อยในขบวนขันหมาก   พร้อมทั้งมีขนมกล้วย และกล้วยทั้งหวี เป็นการเซ่นไหว้เทวดาและบรรพบุรุษ
                ในการปลูกบ้าน  เมื่อมีพิธีทำขวัญยกเสาเอก  จะใช้หน่อกล้วยผูกมัดไว้ที่ปลายเสาร่วมกับต้นอ้อยและเมื่อเสร็จพิธีก็จะมีการลาต้นกล้วยและต้นอ้อยนั้น  นำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน  จากนั้นประมาณ  ๑  ปี  หรือเมื่อปลูกบ้านเสร็จแล้วพร้อมอยู่อาศัย  ก็มีกล้วยไว้กินพอดี
                ในงานศพ  ในสมัยโบราณ  มีการนำใบตองมารองศพ ก่อนนำศพวางลงในโลง   นอกจากนี้ใบตองยังมีบทบาทสำคัญมากในพิธีกรรมต่าง ๆ  โดยการนำมาทำกระทงใส่ของ  ใส่ดอกไม้  และประดิษฐ์เป็นกระทงบายศรี
ในชีวิตประจำวัน  ใช้ใบตองในการห่อผักสดและอาหาร  เนื่องจากใบตองสดมีความชื้น 
ดังนั้นเมื่อใช้ห่อผักสดหรืออาหาร  ความชื้นจะช่วยรักษาผักหรืออาหารให้สดอยู่เสมอ
                นอกจากนี้ใบตองยังทนทานต่อความเย็นและความร้อน  ดังนั้นเมื่อนำใบตองห่ออาหาร
แล้วเอาไปปิ้ง  นึ่ง  ต้ม  ใบตองก็จะไม่สลายหรือละลายเหมือนเช่นพลาสติก  จึงมีอาหารหลายอย่างที่ห่อใบตองแล้วนำไปนึ่ง  เช่น  ห่อหมก  ข้าวต้มผัด  ขนมกล้วย  ขนมตาล  ขนมใส่ไส้   หรือเอาไปปิ้ง เช่น  ข้าวเหนียวปิ้ง  หรือนำไปต้ม  เช่น  ข้าวต้มมัด  หรือข้าวต้มจิ้ม  อาหารเหล่านี้เมื่อนำไปต้ม ปิ้ง  หรือนึ่งแล้ว  ยังทำให้เกิดความหอมของใบตองอีกด้วย  สำหรับใบตองแห้งนำมาใช้ทำกระทงเพื่อใส่อาหาร  ห่อกะละแม  มวนบุหรี่  โดยใบตองแห้งก็จะมีกลิ่นหอมเช่นกัน

กล้วยกับความเชื่อของคนไทย
                ความเชื่อเรื่องกล้วยของคนไทยมีอยู่มากมาย เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างเนิ่นนานแล้ว  ในหญิงมีครรภ์มักไม่รับประทานกล้วยแฝดเพราะมีความเชื่อว่าจะได้ลูกแฝด  แต่ถ้าบ้านไหนอยากได้ลูกแฝดก็รับประทานกล้วยแฝด
                สำหรับหญิงแม่ลูกอ่อนถ้ารับประทานแกงหัวปลี  จะมีน้ำนมมาก  ถ้าคิดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว  หัวปลีเป็นพืชที่มีธาตุเหล็กสูง  บำรุงเลือดดี  จึงทำให้มีน้ำนมมากนั้นเอง
ต้นกล้วยที่ขาวเนียนสะอาด  ไม่มีกาบใบแห้ง  มักเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของนางพรายตานี  เป็นผีผู้หญิง  ที่มีหน้าตาสวยงาม  ผิวขาว  จะปรากฏตัวตอนกลางคืน  โดยยืนอยู่ใต้ต้นกล้วยนั้น ๆ
                ในด้านยาอายุวัฒนะ หากนำกล้วยแช่น้ำผึ้งปิดไหแล้วใช้ปูนแดงทาก่อนฝาปิด จากนั้นเอาไว้ใต้ฐานพระในวันเข้าพรรษา ปล่อยไว้นานสามเดือน ก็สามารถนำมารับประทานได้ ทั้งนี้ก็เป็นแนวคิดด้านการถนอมอาหารอีกวิธีหนึ่งด้วย
                ในงานมงคลมักมีกล้วยเข้ามาร่วมเกี่ยวในพิธีด้วย  เช่น  กล้วยทั้งเครือ  กล้วยดิบ  เป็นต้น ซึ่งหมายถึง  ความอุดมสมบูรณ์  มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง  และความสงบร่มเย็น
ในสมัยก่อนคนที่เป็นโรคฝีดาษ  มีแผลพุพอง  ก็มักให้นอนบนใบกล้วยเพราะจะทำให้น้ำเหลืองไม่ติดกับเสื้อผ้าบังเกิดความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย ส่วนการประหารชีวิตนั้น  ก่อนลงมือประหารจะมีการนำใบกล้วยมาปูรองก่อน เพื่อกันเลือดไหลลงไปบนดิน  เป็นต้น 

อาหารที่ทำจากกล้วย
                ยำหัวปลี  แกงเผ็ดเป็ดใส่กล้วยดิบ  แกงกล้วยดิบ(แกงใต้)  ส้มตำกล้วย 
ขนมที่ทำจากกล้วย
                ขนมกล้วย  ข้าวเม่าทอด  กล้วยแขก  กล้วยทับ  กล้วยน้ำว้าเชื่อม  กล้วยไข่เชื่อม               กล้วยบวชชี  กล้วยตาก  โรตีไส้กล้วยราดช็อคโกแลต  มัฟฟินกล้วย  เค้กกล้วยหอม  กล้วยทอดไอศกรีม  กล้วยฉาบหวาน  กล้วยแผ่นอบเนย  กล้วยกวน
"กล้วย" ยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีกหลายประการ 
 ม้าก้านกล้วยทำจากก้านกล้วย เลาะใบกล้วยออกเหลือส่วนปลายไว้เล็กน้อยเพื่อทำเป็น หางม้า  ใช้มีดปาดส่วนโคนก้านเพื่อทำเป็นหางม้า ใช้เชือกฟางผูกหัวและท้ายทำเป็นบังเหียน  เวลาเล่นใช้เชือกคล้องไหล่ แล้วขี่ก้าน กล้วยวิ่งไล่กันบางคนจะถือไม้เรียวเป็นแส้ม้า หากตีถูกม้าของใครหัก ถือว่าฝ่ายที่ม้าหักเป็นฝ่ายแพ้
กาบกล้วยเมื่อแห้งอาจนำมาฉีกเป็นเส้นใหญ่ๆทำเป็นเชือกกล้วยสำหรับผูกของ

ของใช้จากกล้วย
เชือกกล้วยยังใช้สานทำเป็นหมวก หรือสานเป็นกระเป๋าสุภาพสตรีได้อีกด้วย